ข่าวสารและกิจกรรม

ทำอย่างไรเมื่อพบไก่หรือสัตว์ปีก ตายผิดปกติ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะหากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงและรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือยางทุกครั้ง เผยทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมาโดยตลอด แม้ไทยปลอดโรคไข้หวัดนกมากว่าสิบปีก็ตาม
ทำอย่างไรเมื่อพบไก่หรือสัตว์ปีก_ตายผิดปกติ.pdf   : 79986 bytes
ดาวน์โหลดไฟล์

     นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ในต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 - 27 กันยายน 2560 พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 860 ราย ใน 16 ประเทศ ประเทศที่มีรายงานรอบประเทศไทย ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว พม่า มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งจากรายงานล่าสุด 27 กันยายน 60 พบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 1 ราย

     ประเทศไทย รายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก (สายพันธุ์ H5N1) รายสุดท้ายในปี 2549 จากนั้นยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอีกจนถึงปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ผ่านผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือจากนกอพยพ และการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทั้งบริเวณแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและภายในประเทศ เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น ประกอบกับไทยมีอากาศที่เปลี่ยนแปลงฝนตกสลับหนาว ซึ่งเสี่ยงต่อการระบาดเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค และกรมปศุสัตว์ รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองได้ให้ความสำคัญในการดูแล ป้องกันโรคดังกล่าวในประชาชน และร่วมกันดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมาโดยตลอด

     นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ที่มีรายงานสัตว์ปีกป่วยตาย กรมควบคุมโรคได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสสจ.ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการควบคุมสถานการณ์ตามมาตรฐานและให้ความรู้ด้านการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่ประชาชนทุกพื้นที่ โดยขอให้ประชาชนที่เลี้ยงไก่หรือพบเห็นไก่หรือนกตายผิดปกติให้ดำเนินการ ดังนี้ 1) แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที และรอเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการ 2) หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ ควรสวมหน้ากากอนามัย และถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนาๆ ห้ามจับสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า หลังการสัมผัสให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้ง อีกทั้ง  การกำจัดสัตว์ปีกอย่างถูกต้องเป็นปัจจัยป้องกันที่สำคัญ โดยขุดหลุมและโรยปูนขาว พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อให้ทั่ว แล้วนำซากสัตว์ที่ตายลงในหลุมให้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของความลึกหลุมที่ขุดและกลบดินให้แน่น จากนั้นโรยปูนขาวพร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ปากหลุมและบริเวณใกล้เคียง และหาวัสดุมาปิดทับหลุมอีกครั้ง เพื่อป้องกันการขุดคุ้ยของสุนัขหรือสัตว์อื่น สุดท้ายพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝังซาก

     ทั้งนี้ ประชาชนควรดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยการหมั่นล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกรวมทั้งนกธรรมชาติ ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ภายในช่วง 14 วัน หลังกลับมาจากพื้นที่ที่พบสัตว์ปีกป่วยตาย ควรสวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสโรค  หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

ขอบคุณแหล่งที่มา : thaihealth.or.th